หน้าเว็บ

วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

วรรณคดีวิจารณ์ THA2204





วรรณคดีวิจารณ์  THA2204


การวิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมร้อยกรอง

         ต้องพิจารณาดูวิธีการเลือกใช้ความประณีตงดงามของถ้อยคำที่กวีนำมาใช้ พิจารณาเรื่องเสียง จังหวะคำ สัมผัส เนื้อความ ว่ากวีใช้ได้เหมาะสม สื่อความและสื่ออารมณ์ได้ดีเพียงไร มีความไพเราะอย่างไร สามารถสร้างจินตภาพก่อให้เกิดความเพลิดเพลินให้ผู้อ่านมากน้อยเพียงไร ข้อความหรือ
         ถ้อยคำตอนใดที่อ่านแล้วซาบซึ้งประทับใจอยากจดจำบ้าง ข้อความตอนใดให้คติธรรม พฤติกรรมตัวละครใดที่ควรยกย่องและถือเป็นตัวอย่างนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ หรือพฤติกรรมตัวละครใดที่ไม่ควรนำมาเป็นตัวอย่างที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงบ้างการพิจารณ์องค์ประกอบต่างๆ ของวรรณคดีและวรรณกรรม พยายามตอบคำถามใช้เหตุผลหาตัวอย่างสนับสนุนคำตอบ จะช่วยให้ผู้อ่านวรรณคดีและวรรณกรรมสามารถเข้าใจเรื่องราว ได้แง่คิดคติธรรม เกิดความเพลิดเพลิน เห็นคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรมอย่างแท้จริง

 

1. ความหมายของการวิเคราะห์วิจารณ์

              คือ การแยกแยะเพื่อพิจารณาไตร่ตรอง หาข้อดีข้อเสีย หาจุดเด่น
จุดด้อย หาเหตุผล ในการจะนำไปสู่การวินิจฉัยตัดสินใจ เพื่อประเมินคุณค่าของหนังสือในด้านต่าง ๆ เพื่อจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่ง เช่น เพื่อความซาบซึ้ง เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อแนะนำหนังสือ เป็นต้น

 

2. การวิเคราะห์องค์ประกอบของงานประพันธ์ (ตรงนี้สำคัญ นำไปวิจารณ์จะครอบคลุมมาก)

2.1 การวิเคราะห์รูปแบบ

2.1.1 รูปแบบคำประพันธ์
ร้อยแก้ว เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ บทละคร
ร้อยกรอง เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย กลอน

2.1.2 รูปแบบการดำเนินเรื่อง / ธรรมเนียมนิยมในการแต่ง เช่น วรรณคดีไทยร้อยกรอง จะเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู มีบทชมธรรมชาติ มีบทเปรียบกล่าวถึงการพลัดพรากคร่ำครวญ มีบทอัศจรรย์ ตอนท้ายจบลงด้วยคำอธิษฐานของผู้แต่ง หรือบอกจุดมุ่งหมายในการแต่ง แล้วบอกชื่อผู้แต่ง
เป็นต้น

2.2 การวิเคราะห์องค์ประกอบของเรื่อง

2.2.1 โครงเรื่อง (PLOT) คือ เค้าโครงเรื่องซึ่งแสดงปัญหาหรือข้อขัดแย้งภายในเรื่อง เช่น ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับ ความขัดแย้งภายในใจ ของตัวละครเอง

2.2.2 ตัวละคร (CHARACTERS) คือ ผู้มีบทบาทในเรื่อง อาจเป็น คน สัตว์ อมนุษย์ หรือสิ่งของก็ได้ ต้องวิเคราะห์ลักษณะนิสัยตัวละคร บุคลิกภาพ บทบาทในเรื่อง ความสมจริงของบทบาทและพฤติกรรมเหมาะสม / ประทับใจเพียงใด

2.2.3 ฉาก (SETTING) คือ สถานที่ และ เวลา รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวละครที่เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น

2.2.4 กลวิธีการแต่ง (TECHNIQUE) คือกลวิธีในการเสนอเรื่อง / เล่าเรื่อง (เช่น นักเขียนเล่า หรือตัวละครเล่า)

2.2.5 การใช้ภาษา ( LANGUAGE) เป็นลีลา (STYLE) ของผู้เขียนแต่ละคน ในด้านการใช้คำ การใช้โวหารภาพพจน์ และ
รสวรรณคดี

 

1) การใช้คำ (คำมีทั้งที่เป็นความหมายตรง และความหมายแฝง)

1.1) การเลือกเสียงของคำ การเลียนเสียงธรรมชาติ

ตัวอย่าง ได้ยินเสียงผีป่าโป่งโป้งเปิ่งกู่ก้องร้องกระหึม ผีผิวพึมฟังขนพอง เสียงชะนีร้องอยู่โหวยโวยโว่ยวิเวกวะหวามอก พราหมณ์ก็หยุดยืนตื่นตกตะลึงนึก

(จากเรื่องมหาเวสสันดรชาดก แต่งโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน))

1.2) การใช้ลีลาจังหวะ เสียงหนักเบา

ตัวอย่าง เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน ก็มาเป็น

ศึกบ่ถึงและมึงก็ยังมิเห็น จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น ประการใด

(จากเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ แต่งโดยนายชิต บูรทัต)

1.3) การเลือกความหมายของคำให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและลักษณะของร้อยกรอง

ตัวอย่าง ดูน้ำวิ่งกลิ้งเชี่ยวเป็นเกลียวกลอก กลับกระฉอกฉาดฉัดฉวัดเฉวียน
บ้างพลุ่งพลุ่งวุ้งวงเหมือนกงเกวียน ดูวนเวียนคว้างคว้างในหว่างวง
(จาก นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่)

1.4) การเล่นคำ การซ้ำคำ การเล่นอักษร
การเล่นเสียง

ตัวอย่าง หนาวน้ำค้างพร่างพรมจะห่มเสื้อ พออุ่นเนื้อนอนสนิทพิสมัย

ถึงลมว่าวหนาวยิ่งจะผิงไฟ แต่หนาวใจจำกลั้นทุกวันคืน

(จากเรื่องพระอภัยมณี แต่งโดยสุนทรภู่)

 

การใช้โวหารภาพพจน์ (สำคัญมาก ผมก็นำไปใช้วิจารณ์เหมือนกัน)
                      โวหารภาพพจน์  คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ    เกิดความประทับใจ

เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ  เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน )

  ประเภทของโวหารภาพพจน์

1.อุปมาโวหาร  (Simile)

                        อุปมา  คือ  การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า    “ เหมือน ”    เช่น   ดุจ  ดั่ง  ราว  ราวกับ  เปรียบ  ประดุจ  เฉก  เล่ห์  ปาน  ประหนึ่ง  เพียง  เพี้ยง  พ่าง  ปูน  ถนัด  ละหม้าย  เสมอ  กล  อย่าง  ฯลฯ

 2.อุปลักษณ์  ( Metaphor )

                     อุปลักษณ์  ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน  แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง  มักจะมีคำ เป็น  คือ  

 3.สัญลักษณ์  ( symbol )

                     สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน  ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความ  ซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป   ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประพันธ์ต้องการเปรียบเทียบเพื่อสร้างภาพพจน์หรือมิฉะนั้นก็อาจจะอยู่ในภาวะที่กล่าวโดยตรงไม่ได้  เพราะไม่สมควรจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน

 4.บุคลาธิษฐาน   (  Personification )

                     บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต  บุคคลสมมติ  คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด   ไม่มีวิญญาณ  เช่น   โต๊ะ  เก้าอี้    อิฐ  ปูน    หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์  เช่น ต้นไม้  สัตว ์   โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้  แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์  ให้มีคุณลักษณะต่างๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต   ( บุคลาธิษฐาน  มาจากคำว่า  บุคคล  +  อธิษฐานหมายถึง   อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล )

 5.อธิพจน์  ( Hyperbole )

                              อติพจน์ หรือ อธิพจน์  คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อสร้างและเน้นความรู้สึกและอารมณ์   ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง   ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด  เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน

 6.สัทพจน์  ( Onematoboeia )

                 สัทพจน์  หมายถึง  ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ   เช่น   เสียงดนตรี    เสียงสัตว์   เสียงคลื่น    เสียงลม   เสียงฝนตก  เสียงน้ำไหล   ฯลฯ   การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ

 7.นามนัย ( Metonymy )

                      นามนัย  คือ  การใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง  คล้ายๆ สัญลักษณ์     แต่ต่างกันตรงที่  นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด  หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด

 8.ปรพากย์  ( Paradox )

                         ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์  คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันมากล่าว  อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

 

รสวรรณคดี (อันนี้ถ้านำไปใช้ในการวิจารณ์ได้ก็จะดูมีความรอบรู้มากขึ้น)

มีอยู่ ๔ ชนิด คือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง สัลลาปังคพิไสย

 1.เสาวรจนีย์ (บทชมโฉม) คือการเล่าชมความงามของตัวละครในเรื่อง ซึ่งอาจเป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ หรือสัตว์ซึ่งการชมนี้อาจจะเป็นการชมความเก่งกล้าของกษัตริย์ ความงามของปราสาทราชวังหรือความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง

 2.นารีปราโมทย์ (บทเกี้ยว โอ้โลม) คือการกล่าวข้อความแสดงความรัก ทั้งที่เป็นการพบกันในระยะแรกๆ และในโอ้โลมปฏิโลมก่อนจะถึงบทสังวาสนั้นด้วย

 3.พิโรธวาทัง(บทตัดพ้อ) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่น้อยไปจนมาก จึงเริ่มตั้งแต่ ไม่พอใจ โกรธ ตัดพ้อ ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี และด่าว่าอย่างรุนแรง

4.สัลลาปังคพิไสย(บทโศก) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า อาลัยรัก บทโศก

 
ขอขอบคุณ “Thai Language สนุกกับภาษาไทย

*** ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเท่าไร แต่จำแนวการวิจารณ์และหลักการวิจารณ์ไปใช้ ก็ได้ B+ มาครับ สู้ๆ นะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น